ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก
Thai

คำถามที่พบบ่อย

Faq i Stock 865612736

กรุณาปรึกษาข้อสงสัยใดๆ ที่อาจมีกับแพทย์ของคุณ

เกี่ยวกับการปิด PFO

ฉันจะทราบได้อย่างไรว่าทางเลือกในการรักษาใดที่เหมาะสำหรับฉัน?

หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่ามีรูผนังกั้นหัวใจห้องบนที่ไม่ปิด (PFO) และเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันแบบไม่ทราบสาเหตุ คุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอีกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่สัมพันธ์กับ PFO ซ้ำอีกครั้ง แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้ปิด PFO ด้วยอุปกรณ์ปิด PFO มีการใช้อุปกรณ์ลักษณะนี้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยหลายแสนคนทั่วโลกและได้รับการสนับสนุนจากการศึกษาทางคลินิกขนาดใหญ่มากมาย1,2

  1. Mas JL, Derumeaux G, Guillon B, et al. Patent foramen ovale closure or anticoagulation vs. antiplatelets after stroke. N Engl J Med. 2017; 377:1011-21.
  2. Saver JL, Carroll JD, Thaler DE, et al. Long-term outcomes of patent foramen ovale closure or medical therapy after stroke. N Engl J Med. 2017;377:1022-32.
ฉันต้องทำอะไรก่อนเข้ารับการทำหัตถการปิด PFO?

เมื่อนัดหมายทำหัตถการ:

โปรดแจ้งให้แพทย์ของคุณทราบว่าคุณใช้ยาอะไรบ้าง รวมถึงขนาดของยาแต่ละชนิด แพทย์อาจขอให้คุณเปลี่ยนยาที่รับประทานเป็นประจำก่อนการทำหัตถการ

คืนก่อนเข้ารับการทำหัตถการ:

คุณอาจถูกสั่งไม่ให้รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มหลังเที่ยงคืนของคืนก่อนทำหัตถการ ทำตามคำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับการรับประทาน การดื่มเครื่องดื่ม และการใช้ยา

วันที่เข้ารับการทำหัตถการ:

อย่าขับรถไปโรงพยาบาลเอง ให้ผู้อื่นไปรับส่งคุณไปโรงพยาบาลและกลับบ้าน คุณอาจต้องการขอให้ใครสักคนช่วยเหลือคุณที่บ้าน

เกิดอะไรขึ้นในระหว่างทำหัตถการปิด PFO?

อันดับแรกคุณจะได้รับยาระงับประสาทที่ช่วยให้คุณผ่อนคลาย รวมทั้งได้รับยาชาเฉพาะที่ด้วย เมื่อคุณรู้สึกผ่อนคลายและสบาย แพทย์จะเริ่มทำหัตถการ

โดยแพทย์จะกรีดแผลเล็กๆ (ผ่า) ที่บริเวณขาหนีบของคุณและสอดท่อที่เรียกว่าสายสวนเข้าไป อุปกรณ์ปิด PFO จะเคลื่อนที่ไปในสายสวนนี้ แพทย์จะควบคุมให้สายสวนเคลื่อนที่ผ่านร่างกายไปยังหัวใจของคุณ

จากนั้นแพทย์จะจัดตำแหน่งให้อุปกรณ์ปิด PFO ของคุณ อุปกรณ์สร้างภาพหัวใจจะช่วยให้แพทย์มั่นใจว่าอุปกรณ์ปิดนี้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องก่อนนำสายสวนออก จากนั้นแพทย์จึงถอดสายสวนออกจากร่างกาย อุปกรณ์ปิดรูเปิดนี้จะอยู่ในหัวใจของคุณ

คุณจะพักอยู่ในห้องพักฟื้นเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

การปิด PFO ไม่ใช่การผ่าตัดหัวใจแบบเปิดแต่จัดเป็นหัตถการแบบ “แผลเล็ก”

เกิดอะไรขึ้นหลังทำหัตถการปิด PFO?

คุณน่าจะได้กลับบ้านภายใน 24 ชั่วโมง แพทย์จะพูดคุยกับคุณเกี่ยวกับการดูแลตัวเองก่อนที่คุณจะกลับบ้าน และอาจแนะนำให้ทำตามคำอธิบายนี้เป็นประจำ

หนึ่งเดือนหลังจากทำหัตถการ:

  • รับประทานยาแอสไพริน (81 ถึง 325 มก.) ทุกวัน
  • รับประทานยาโคลพิโดเกรล (75 มก.) ทุกวัน

อย่างน้อยหกเดือนหลังจากทำหัตถการ:

  • รับประทานยาแอสไพริน (81 ถึง 325 มก.) ทุกวัน
  • รับประทานยาเพิ่มเติมตามที่แพทย์ของคุณสั่งให้

หกเดือนหลังจากทำหัตถการ:

  • ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง

คำแนะนำต่อเนื่อง:

  • พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ
  • ติดต่อแพทย์ของคุณหากมีเลือดออก ปวด รู้สึกไม่สบาย หรือมีการเปลี่ยนแปลงในสุขภาพโดยรวมของคุณ
  • เพื่อความปลอดภัยของคุณและเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่ออุปกรณ์ปิดรูเปิด:
    • แจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทราบว่าคุณเคยปิด PFO มาก่อน
    • แจ้งเกี่ยวกับการฝังอุปกรณ์ของคุณ "ก่อน" ขั้นตอนการถ่ายภาพทุกชนิด: ที่เกี่ยวกับการแพทย์ ทันตกรรม หรือ MRI (การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า)
หลังจากทำหัตถการแล้ว ฉันจะกลับมาทำกิจกรรมตามปกติได้เมื่อใด?

คุณควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบหนักมากเป็นเวลาอย่างน้อย 2 อาทิตย์หลังจากทำหัตถการ แพทย์จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่คุณ

อุปกรณ์ปิด PFO อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในบางสถานที่หรือบางสถานการณ์ใช่หรือไม่?

เครื่องใช้ในครัวเรือนหรือระบบรักษาความปลอดภัยจะไม่มีผลกระทบต่ออุปกรณ์ปิด PFO ของคุณ แจ้งให้แพทย์ทุกท่านรวมถึง ทันตแพทย์ประจำตัวของคุณทราบว่าคุณมีอุปกรณ์ปิด PFO หากคุณจำเป็นต้องถ่ายทางการแพทย์ โปรดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าคุณมีอุปกรณ์ปิด PFO อุปกรณ์อาจลดความคมชัดของภาพถ่ายทางการแพทย์

ฉันควรกังวลเกี่ยวกับการมีอุปกรณ์โลหะอยู่ในหัวใจหรือไม่?

อุปกรณ์ปิด PFO ส่วนใหญ่มีโลหะผสมนิกเกิลไททาเนียม ซึ่งถือว่าปลอดภัยสำหรับคนส่วนมาก แต่อาจจะเป็นตัวเลือกที่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้นิกเกิลหรือผู้ที่แพ้โลหะ โปรดปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคุณเพื่อกำหนดทางเลือกการรักษาที่เหมาะสำหรับคุณ

การปิด PFO เหมาะกับฉันหรือไม่?

แพทย์ของฉันทราบได้อย่างไรว่าฉันมี PFO?

ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ (อายุรแพทย์หัวใจ) อ่านผลการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง การตรวจนี้จะใช้คลื่นความถี่เสียงในการสร้างภาพหัวใจของคุณ รูปภาพเหล่านี้สามารถแสดงให้เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบพัฒนาของหัวใจหรือไม่ นอกจากนั้นยังสามารถแสดงให้เห็นด้วยว่ามีปัญหาเกี่ยวกับทิศทางการไหลของเลือดผ่านหัวใจหรือไม่

อายุรแพทย์หัวใจอาจต้องการดูการไหลของเลือดในหัวใจอย่างละเอียด โดยการตรวจด้วยฟองอากาศซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แพทย์ใช้ค้นหา PFO

แพทย์จะทราบได้อย่างไรว่าสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองของฉันคืออะไร?

แพทย์ของคุณจะทำทุกสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อหาสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองของคุณ อย่างไรก็ดีโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันใน 30% ของคนทั่วไปนั้นยังไม่ทราบสาเหตุ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและอายุรแพทย์หัวใจจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสมอง หัวใจและหลอดเลือดของคุณ การทดสอบต่อไปนี้อาจใช้เพื่อรวบรวมภาพถ่ายและข้อมูลทางสุขภาพอื่นๆ:

  • อัลตราซาวด์
  • เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CAT Scan, CT)
  • การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG/ECG)
  • การตรวจเลือด
PFO อาจเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองของฉันได้หรือไม่?

ประมาณ 1 ใน 4 ของคนทั่วไปมี PFO1 โดยส่วนใหญ่ไม่มีโรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ดี คุณเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันแล้วและตอนนี้แพทย์ของคุณทราบว่าคุณมี PFO จึงอาจจะมีความเกี่ยวข้องกัน แพทย์จะประเมินคุว่าคุณเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่สัมพันธ์กับ PFO หรือไม่

ในบางกรณี PFO มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดย PFO อาจยอมให้ลิ่มเลือดผ่านจากหัวใจห้องบนขวาไปยังหัวใจห้องบนซ้าย หากลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองก็จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ PFO และโรคหลอดเลือดสมองได้ที่นี่

  1. Kent DM, Thaler DE. Is patent foramen ovale a modifiable risk factor for stroke recurrence? Stroke. 2010;41(10 Suppl):S26-30. doi: 10.1161/STROKEAHA.110.595140.

เกี่ยวกับหัตถการ

ใช้เวลาในการทำหัตถการนานแค่ไหน?

การปิด PFO มักจะทำเป็นหัตถการแบบผู้ป่วยนอกและน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งมักทำได้โดยไม่ต้องดมยาสลบ คุณควรจะกลับบ้านได้ภายในวันนั้น

ฉันต้องทำอะไรก่อนเข้ารับการทำหัตถการปิด PFO?

อย่าลืมปรึกษาแพทย์ของคุณเกี่ยวกับยาใดๆ ที่คุณอาจใช้อยู่ เนื่องจากแพทย์อาจแนะนำคุณให้ปรับการใช้ยาของคุณก่อนรับหัตถการ แพทย์อาจบอกคุณไม่ให้รับประทานหรือดื่มอะไรหลังจากเที่ยงคืนก่อนการทำหัตถการ คุณควรจัดหารถไปและกลับจากโรงพยาบาล และขอให้ใครสักคนช่วยคุณที่บ้าน (ถ้าจำเป็น)

จะเกิดอะไรขึ้นในระหว่างทำการหัตถการ?

หัตถการแบบแผลเล็กนี้จะทำในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด ก่อนการเริ่มหัตถการ คุณจะได้รับยาระงับประสาทเพื่อช่วยให้คุณผ่อนคลาย และได้ยาชาเฉพาะที่ เพื่อไม่ให้คุณรู้สึกไม่สบายมาก หัตถการที่ใช้สายสวนนี้จะประกอบด้วยการทำให้เกิดแผลเล็กๆ โดยทั่วไปจะอยู่ที่บริเวณขาหนีบด้านขวา และการสอดท่อขนาดเล็กเพื่อนำอุปกรณ์ปิด PFO ผ่านเข้าไปทางหลอดเลือดเพื่อไปปิด PFO ที่อยู่ในหัวใจของคุณ

เมื่อจัดตำแหน่งให้อุปกรณ์ปิด PFO อยู่ที่ PFO แล้ว อายุรแพทย์หัวใจจะตรวจดูตำแหน่งอย่างระมัดระวังโดยใช้เครื่องมือสร้างภาพหัวใจ เมื่ออายุรแพทย์หัวใจพอใจกับตำแหน่งของอุปกรณ์แล้ว ก็จะปล่อยอุปกรณ์ไว้ในหัวใจอย่างถาวรและจะถอดสายสวนทั้งหมดออกจากร่างกาย

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออุปกรณ์ฝังอยู่ในร่างกายของฉัน?

ภายในไม่กี่วันหลังการทำหัตถการ เนื้อเยื่อร่างกายจะเริ่มเจริญไปคลุมอุปกรณ์ปิด PFO อุปกรณ์จะถูกฝังอยู่ในหัวใจของคุณโดยอาจจะอยู่อย่างถาวร

การรักษาด้วยการปิด PFO มีประสิทธิภาพเพียงใด?

เป้าหมายของการปิด PFO ก็เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอีกครั้ง การศึกษาหลายๆ งานแสดงให้เห็นว่าการปิด PFO จะลดความเสี่ยงนี้อย่างมีนัยสำคัญ 1,2 มีการศึกษาหลายงานเปรียบเทียบประสบการณ์ของผู้ป่วยที่ได้รับการปิด PFO ร่วมกับได้ยาลดลิ่มเลือดกับผู้ป่วยที่ได้รับแต่ยาเท่านั้น สถาบันประสาทวิทยาอเมริกันวิเคราะห์ผลการศึกษาเหล่านี้และสรุปว่า การปิด PFO ร่วมกับการใช้ยาลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองครั้งที่สองได้ถึง 59% เปรียบเทียบกับการใช้ยาอย่างเดียว3

  1. Mas JL, Derumeaux G, Guillon B, et al. Patent foramen ovale closure or anticoagulation vs. antiplatelets after stroke. N Engl J Med. 2017;377:1011-21.
  2. Saver JL, Carroll JD, Thaler DE, et al. Long-term outcomes of patent foramen ovale closure or medical therapy after stroke. N Engl J Med. 2017;377:1022-32.
  3. Messé SR, Gronseth GS, Kent DM, et al. Practice Advisory update summary: Patent foramen ovale and secondary stroke prevention. Neurology. 2020;94:876-885.

สิ่งที่ต้องพิจารณา

ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับหัตถการปิด PFO คืออะไร?

มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับหัตถการทางการแพทย์ทุกชนิด ความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุด ได้แก่ :

  • ลิ่มเลือดในหัวใจ ขา หรือปอดที่ต้องการการบำบัดด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดในระยะยาว
  • เลือดหรือของเหลวสะสมระหว่างกล้ามเนื้อหัวใจและถุงหุ้มหัวใจที่จำเป็นต้องทำหัตถการเพื่อระบายออก
  • อัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะและ/หรือเร็ว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว)
  • กล้ามเนื้อหัวใจหรือหลอดเลือดทะลุ
  • โรคหลอดเลือดสมอง (แบบรุนแรงหรือเล็กน้อย)
  • การเสียชีวิต

ความเสี่ยงเพิ่มเติมที่อาจเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับหัตถการหรืออุปกรณ์ปิดรูเปิดได้แก่:

  • การแพ้ยาระงับความรู้สึก
  • การแพ้สารทึบรังสีที่ใช้แสดงภาพหัวใจในระหว่างการทำหัตถการ
  • การแพ้ยาที่ใช้ในระหว่างการทำหัตถการ
  • การแพ้โลหะ: นิทินอล (นิกเกิล ไททาเนียม) แพลทินัม/อิริเดียม สแตนเลส (โครเมียม เหล็ก แมงกานีส โมลิบดีนัม นิกเกิล)
  • จังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
  • เลือดออก
  • ลิ่มเลือดบนอุปกรณ์ปิดรูเปิด
  • หลอดเลือดอุดตันเนื่องจากลิ่มเลือดหรืออากาศ
  • เจ็บหน้าอก
  • มีไข้
  • ของเหลวสะสมรอบปอด
  • ปวดหัวหรือไมเกรน
  • หัวใจล้มเหลว
  • ความเสียหายของลิ้นหัวใจที่รบกวนการปิดลิ้นหัวใจ
  • ความดันเลือดสูงหรือต่ำ
  • การปิด PFO ไม่สมบูรณ์
  • การติดเชื้อ
  • การบาดเจ็บที่หัวใจหรือหลอดเลือด
  • การบาดเจ็บที่เส้นประสาทแขนหรือคอส่วนล่าง
  • การเคลื่อนตัวของอุปกรณ์ปิดรูเปิดออกจากตำแหน่งภายใน PFO หรือไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
  • การขัดขวางการไหลของเลือดไปยังอวัยวะหรือส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างกะทันหัน
  • การผ่าตัดหรือการรักษาแบบแทรกแซงเพื่อเอาอุปกรณ์ปิดรูเปิดออก
  • มีปัญหาการหายใจหรือหายใจไม่ออก
ใครที่ไม่ควรเข้ารับการทำหัตถการนี้?

แพทย์จะตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าคุณไม่มี:

  • เนื้องอกหรือลิ่มเลือดที่อาจขัดขวางการใส่หรือการจัดตำแหน่งอุปกรณ์ปิดรูเปิด
  • หลอดเลือดที่เล็กเกินกว่าจะนำอุปกรณ์ปิดรูเปิดผ่านไปได้
  • อวัยวะในร่างกาย เช่น หัวใจ หลอดเลือด หรือลิ้นหัวใจ ที่จะมีผลต่อขนาดอุปกรณ์ที่ต้องการ
  • หัวใจผิดปกติชนิดอื่น
  • การติดเชื้อที่หัวใจหรือการอักเสบของหัวใจ
MAT-2313634 v1.0 | สินค้าได้รับการอนุมัติสำหรับใช้ในประเทศไทยเท่านั้น